ภาวะนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ สามารถดูแลได้ด้วยวิธีใดบ้าง
การนอนกรน อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นปัญหานี้น่ากลัวกว่าที่คิด เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดความรำคาญแล้ว ยังอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของปัญหาสุขภาพด้วย เนื่องจากการนอนกรนสามารถนำไปสู่ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ความดัน และภาวะอ้วน หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต ถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและทันท่วงที
การรักษาภาวะนอนกรนสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สำหรับผู้ที่มีภาวะนอนกรนในระดับเริ่มต้น แพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดน้ำหนัก ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ปรับเปลี่ยนท่านอนจากการนอนหงายเป็นนอนตะแคง หรือปรับองศาการนอน โดยยกศีรษะให้สูงขึ้น เป็นต้น
การใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม (Oral Appliance) เช่น
-การใส่ฟันยาง ซึ่งต้องทำโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะจะต้องมีการตรวจ และประดิษฐ์ฟันยางให้ผู้ป่วยแต่ละคน โดยฟันยางนี้จะช่วยเปิดทางเดินหายใจส่วนต้นให้กว้างขึ้น เพื่อป้องกันลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง
-อุปกรณ์ช่วยลดกรนทางปาก ได้แก่ แผ่นแปะคาง (Chin Strip) มีลักษณะเป็นแผ่นหรือเทปสำหรับแปะที่บริเวณใต้คาง เพื่อป้องกันการอ้าปากในขณะนอนหลับ
-อุปกรณ์ช่วยลดกรนทางจมูก ได้แก่ แผ่นแปะจมูก (Nasal Strip) มีลักษณะเป็นเทปกาวขนาดเล็ก สำหรับแปะที่บริเวณปีกจมูกทั้งสองข้าง เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ทางเดินหายใจในจมูก
การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับที่ไม่รุนแรง โดยเครื่องจะทำหน้าที่ดันอากาศเข้าสู่ทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายของผู้ใช้งานอย่างสม่ำเสมอขณะนอนหลับ เพราะเครื่อง CPAP จะช่วยให้ทางเดินหายใจไม่ตีบแคบขณะนอนหลับ แนะนำให้ใช้ร่วมกับหน้ากากซึ่งออกแบบมาเพื่อรองรับลักษณะการนอนของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน
ปัจจุบันมีเครื่อง CPAP ที่สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนของเรา เพื่อตั้งค่าและเก็บข้อมูลระหว่างการใช้งานได้ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้เครื่อง CPAP ได้สะดวกขึ้น รวมถึงเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์คุณภาพการนอนและการหายใจของเราได้อีกด้วย
การดูแลด้วยเครื่อง CPAP เป็นวิธีที่ได้รับความนิยม ทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีภาวะนอนกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เพราะเป็นวิธีที่สะดวกและราคาไม่แพง
ดังนั้น หากคุณมีภาวะนอนกรน หรือสงสัยว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ แนะนำให้รีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและประเมินระดับความรุนแรงของอาการ และรับการรักษาจากแพทย์ตามแนวทางที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่างๆที่อาจจะเกิดตาม
ขอบคุณข้อมูลจาก www.pobpad.com/นอนกรน